วันที่ 25-27 มีนาคม 2563 ณ จังหวัดระยอง
ANNUAL CONCRETE CONFERENCE 15
การประชุมวิชาการคอนกรีตประจำปี ครั้งที่ 15 (ACC 15)
การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor)
หลักการและเหตุผล
โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดย มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว แนวทางและแผนการพัฒนา EEC จะแบ่งเป็นเขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ และพัฒนาเขตเมืองใหม่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ควบคู่กับการลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆอย่างเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญๆได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ การก่อสร้างทางหลวงต่างๆ การก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะต้องใช้วัสดุในการก่อสร้างจำนวนมาก โดยคอนกรีตยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะเป็นวัสดุที่ใช้งานได้ง่าย มีความทนทานอีกทั้งยังมีความเหมาะสมทางด้านราคา
สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา เป็น 1 ใน 4 สาขาวิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาและได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ภายใต้สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา และได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ โดยจัดการเรียนการสอนเพียง ชั้นปีที่ 1 และ 2 เมื่อนิสิตต้องเรียนในชั้นปีที่ 3 และ 4 ทางสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ จะส่งนิสิตไปเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
ต่อมามหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา เพื่อเตรียมยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และเมื่อมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ คือ มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 แล้ว สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีแห่งการสถาปนา “มหาวิทยาลัยพะเยา” ครบรอบ 10 ปี และเพื่อเป็นการเพิ่มความก้าวหน้าทางวิชาการและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้จัดประชุมวิชาการคอนกรีตประจำปีครั้งที่ 15 ขึ้นภายใต้แนวคิด “การพัฒนาเทคโนโลยีคอนกรีตสำหรับ EEC” เพื่อให้เป็นเวทีในการเผยแพร่ความรู้ นำเสนองานวิจัย และแสดงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอนกรีตของประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและ EEC และให้นักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย นิสิต วิศวกร ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานด้านคอนกรีตได้ทราบถึงเทคโนโลยีใหม่ เพื่อที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสมต่อไป
หัวข้อการประชุม
1. การวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างคอนกรีต (STR)
2. เทคโนโลยีคอนกรีตและวัสดุ เทคโนโลยีการก่อสร้าง (MAT)
3. การบำรุงรักษา ซ่อมแซม และเสริมกำลังคอนกรีต (REP)
4. คอนกรีตเพื่อสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน (ENV)
5. การปรับปรุงสมบัติของดินด้วยวัสดุซีเมนต์ (GTE)
6. ผลงานและนวัตกรรมของผู้ประกอบการ (ICM)
7. เทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานคอนกรีต
เชิญชวนส่งบทความและผลงานของผู้ประกอบการ
ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าประชุมวิชาการคอนกรีตประจำปีครั้งที่ 15 และหากมีความประสงค์จะส่งบทความวิจัยหรือบทความวิชาการเกี่ยวกับคอนกรีต ขอให้ส่งบทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในส่วนของภาคประกอบการสามารถส่งไฟล์ power point ตามกำหนดการที่ระบุไว้ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็ปไซต์ของสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย
เปิดห้องพิเศษสำหรับบทความของผู้ประกอบการ
ไฟล์สำหรับไว้ใช้ในการเขียนบทความเพื่อส่งกรรมการตรวจสอบพิจารณา ทั้งบทคัดย่อและบทความฉบับสมบูรณ์ ดาวน์โหลดได้ที่นี่
Template ให้ผู้นำเสนอบทความและผู้ประกอบการเสนอเลือกขนาดที่เหมาะสมในการทำ presentation
ไฟล์ powerpont ขนาด 4:3 ตัวอย่างดูได้ที่นี่
ไฟล์ powerpont ขนาด 16:9 ตัวอย่างดูได้ที่นี่
กำหนดการสำคัญของบทความวิจัยและบทความวิชาการ
ส่งบทคัดย่อ : วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562
ตอบรับบทคัดย่อ : ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2562
ส่งบทความฉบับสมบูรณ์ : ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562
ตอบรับบทความฉบับสมบูรณ์ : ภายในวันที่ 15 มกราคม 2563
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://acf5.thaitca.or.th/pv/
กำหนดการสำคัญของผู้ประกอบการ
ส่ง Power Point : วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562
ตอบรับ Power Point : ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2562
ส่ง Power Point ฉบับสมบูรณ์ : ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562
ตอบรับ Power Point ฉบับสมบูรณ์ : ภายในวันที่ 15 มกราคม 2563
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (สคท.)
ชั้น 3 อาคาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
487 รามคำแหง 39 (ซอยเทพลีลา) ถนน รามคำแหง
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์ 02-935-6593 โทรสาร 02-935-6538
E-mail: Thaitca@gmail.com
หรือ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช
โทรศัพท์ 081-815-0699